เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคน เคยได้ยินเกี่ยวกับการตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่กันมาอย่างบ่อยครั้งแล้ว เพราะถือเป็นความเชื่อโบราณที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเชื่อว่าการตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่ไว้ที่บ้าน จะช่วยให้ชีวิตมีแต่ความโชคดี และเป็นสิริมงคล แต่ก็อาจจะยังมีหลายคนที่ยังสงสัยว่าระหว่างศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่นั้นต่างกันอย่างไร หรืออาจจะยังมีใครที่คิดว่าทั้งสองสิ่งนั้นมีความเหมือนกัน วันนี้เราจะพาทุกคนมาไขข้อข้องใจว่าศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่มีความแตกต่างกันอย่างไร
ศาลพระภูมิ
ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยมาก ๆ ในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะไปบ้านไหนก็มักจะมีศาลที่มีลักษณะเป็นบ้านหรือในบางที่จะมีลักษณะเป็นวิหารหลังเล็ก ซึ่งจะตั้งอยู่บนเสาเดี่ยวที่มีความสง่างาม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการออกแบบให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และศาลพระภูมิที่จะเห็นได้บ่อย คือ ศาลพระภูมิโมเดิร์น
โดยมีความเชื่อว่าพระภูมิ คือองค์เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปัก ดูแลรักษาสถานที่ต่าง ๆ ให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ และโดยเฉพาะคนไทยนั้นมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ สิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงทำให้ความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องการตั้งศาลพระภูมิมีความเข้มข้นอย่างมาก ต่อให้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงฝังลึกอยู่กับคนไทย (เรียนรู้เพิ่มเติม เทคนิค การตั้งศาลเจ้าที่ด้วยตนเองที่บ้าน ปัง ๆ เฮง ๆ)
การไหว้ศาลพระภูมิ
โดยปกติแล้ว การไหว้ศาลพระภูมิจะมีแบบแผนที่ค่อนข้างตายตัว คือจะต้องใช้ธูปจำนวน 9 ดอก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นเลขมงคลสำหรับคนไทย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือการเตรียมของไหว้ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ของคาว ของหวาน พวงมาลัย ดอกไม้ รวมถึงผลไม้ที่เป็นชื่อมงคลด้วย
คาถาบูชาศาลพระภูมิ
เริ่มจากการตั้งนะโม 3 จบ แล้วท่องตามคาถาดังต่อไปนี้
- ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
- สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่ รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลี ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้า (คำอธิษฐาน) มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
ศาลเจ้าที่
ศาลเจ้าที่ หรือศาลตายาย ก็สามารถพบเห็นได้บ่อยเช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าที่ หรือตายายที่กล่าวถึงนั้น คือวิญญาณของผู้ที่อยู่มาก่อน เพื่อให้ช่วยคุ้มครอง และดูแลสถานที่นั้น ๆ ให้พ้นจากภัยอันตรายเช่นกัน และจะเห็นได้บ่อยในลักษณะที่เป็นเรือนไทยจำลองที่มี 4 หรือ 6 เสา คนไทยมีความเชื่อกันว่าเจ้าที่ในศาลนั้น จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ นั่นคือ เจ้าที่แท้ หรือผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่นั้น ๆ และยังคงอยู่เพื่อคอยปกป้องคุ้มครอง และเจ้าที่จร ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเดิมแต่อย่างไร แต่เป็นวิญญาณเร่ร่อน ซึ่งเข้ามาอยู่แทนเจ้าของเดิมนั่นเอง
การไหว้ศาลเจ้าที่
โดยปกติแล้วการไหว้ศาลเจ้าที่จะใช้ธูปจำนวน 7 ดอก เพราะนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งเลขมงคลแล้ว ยังเป็นการไหว้ที่สื่อถึงการไหว้วิญญาณของผู้ที่มีพระคุณกับเรา ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ก็คือของไหว้เช่นเดียวกับศาลพระภูมิ แต่สำหรับศาลเจ้าที่นั้นจะนิยมถวายเครื่องหอม หรือของหอมร่วมด้วย เช่น น้ำอบไทย เป็นต้น
คาถาบูชาศาลเจ้าที่
เริ่มจากการตั้งนะโม 3 จบ แล้วท่องตามคาถาดังต่อไปนี้
- ยัสมิง ทิสาภาเค สันติ ตายายเทวา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
- สิโรเม ขอเดชะ ตายายเทวา เจ้าของที่ ขอให้ช่วยดูแลคุ้มครองรักษาบ้านเรือน (ชื่อสถานที่) และข้าพเจ้าผู้อยู่อาศัยในสถานที่นี้ (คำอธิษฐาน) โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
บทความที่เกี่ยวข้อง ศาลเจ้าที่ในบ้าน เสริมศิริมงคล ตั้งอย่างไรให้เสริมโชคลาภแก่ผู้อาศัย
บทสรุป
ส่วนใหญ่แล้วจะมีการจัดตั้งศาลพระภูมิไว้อยู่คู่กับศาลเจ้าที่ เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมหนุนกัน และจะเป็นสิริมงคลกับบ้านมากยิ่งขึ้น และไม่ว่าจะมีการตั้งศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าที่แบบเดี่ยว หรือจัดตั้งคู่กัน สิ่งสำคัญที่ห้ามพลาด คือการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องคอยหมั่นตรวจสอบความเสียหายของตัวศาล รวมถึงตุ๊กตาตั้งศาล และเมื่อพบว่ามีการชำรุด หรือแตกหัก ก็ควรที่จะเปลี่ยนในทันที เพื่อความสวยงาม และความเป็นสิริมงคลกับคนในบ้านมากที่สุด